เกี่ยวกับเรา

กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ประวัติความเป็นมา

         ปี พ.ศ.2494  ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการสู้รบภายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย มีคณะกรรมการนเรศวร รัฐบาลในขณะนั้นจัดตั้งขึ้นทำการศึกษา เตรียมรับสถานการณ์ภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นจากการประเมินสถานการณ์ไว้ว่าประเทศไทยอาจจะต้องถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าแทรกแซงเป็นบ่อนทำลายประเทศ จะต้องประสบปัญหาสงครามนอกรูปแบบหรือสงครามกองโจร จำเป็นจะต้องจัดตั้งกองกำลังเพื่อทำการฝึกกำลังพล เตรียมรับมือกับสงครามนอกรูปแบบที่จะเกิดขึ้น โดยมีกรมตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบเตรียมการรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว เนื่องจากประเทศไทยได้มีการตกลงทำอนุสัญญากับประเทศฝรั่งเศสในอนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อ 25 สิงหาคม พ.ศ.2469 ประเทศไทยจึงไม่สามารถส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการในเขต ๒๕ กิโลเมตร จากแนวชายแดน

         จากอนุสัญญาดังกล่าว พลตำรวจโทเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้น ได้จัดตั้งค่ายฝึกอาวุธพิเศษ ที่ค่ายเอราวัณ จังหวัดลพบุรี รับการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ในการฝึกพร้อมทั้งครูฝึกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นข้าราชการตำรวจหน่วยต่างๆ ทำการฝึกอบรมในวิชาการรบแบบกองโจร การใช้อาวุธพิเศษ การโดดร่ม ระเบิดทำลาย การก่อวินาศกรรม การข่าว และการฝึกในการต่อสู้ทางยุทธวิธีในรูปแบบต่างๆ โดยมี พันตำรวจเอกเจมส์ วิลเลี่ยม แลร์ เป็นหัวหน้าคณะครูฝึก

         ต่อมาในปี พ.ศ.2513 กองบัญชาการตำรวจภูธร(ชายแดน)ได้เสนอกรมตำรวจ ขออนุมัติจัดตั้งเป็น “กองบังคับการฝึกพิเศษ (ชั่วคราว)” โดยใช้ฝ่ายอำนวยการชายแดน เป็นสถานที่ตั้ง ได้แต่งตั้งให้
พันตำรวจเอกประเนตร ฤทธิภาชัย (ยศขณะนั้น) เป็นผู้บังคับการฝึกพิเศษ (ชั่วคราว) เพื่อทำการฝึกกำลังรบนอกแบบ ให้มีหน้าที่ในการลาดตระเวนชายแดน ป้องกันการแทรกซึมตามแนวชายแดน ป้องกันปราบปรามการก่อความไม่สงบ และสนับสนุนการปฏิบัติการของกองทัพ มีหน่วยขึ้นตรงซึ่งเป็นศูนย์ฝึกต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ(ศฝ.ตปส.) จำนวน 5 หน่วย

         ต่อมาในปี พ.ศ.2515 ได้มีประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 130 ลง 22 เมษายน พ.ศ.2515 ปรับปรุงกองบัญชาการตำรวจภูธรเสียใหม่ และได้จัดตั้งกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนขึ้น กองบังคับการฝึกพิเศษ จึงเป็นหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนอย่างสมบูรณ์ ปรับเปลี่ยนศูนย์ฝึกต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ(ศฝ.ตปส.) เป็นกองกำกับการทั้ง 5 หน่วย ทั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 45 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2519  ได้แบ่งส่วนราชการกองบังคับการฝึกพิเศษออกเป็น 4 แผนก 6 กองกำกับการฝึกพิเศษ และได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2529 แบ่งส่วนราชการเป็น 1 กองกำกับอำนวยการ 9 กองกำกับการฝึกพิเศษ และ พ.ศ.2548 เปลี่ยนแปลงส่วนแบ่งราชการของกองบังคับการฝึกพิเศษ เป็น 1 ฝ่ายอำนวยการ 1 ศูนย์อำนวยโครงการ 9 กองกำกับการฝึก และ 1 งานเทคโนโลยีสารสนเทศ และ พ.ศ.2552 ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ.2552 เป็นต้นไป โดยกองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ประกอบไปด้วย 1 กองกำกับการฝ่ายอำนวยการ 1 ศูนย์ฝึกสุนัขตำรวจ และกองกำกับการ 1 – 9 กองบังคับการฝึกพิเศษ จนถึงปัจจุบัน

         กองบังคับการฝึกพิเศษ เดิมตั้งอยู่ที่อาคารกองบังคับการฝึกพิเศษ อยู่ภายในบริเวณ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เลขที่ 1279 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนในเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2563  ได้ย้ายมาตั้งอยู่ภายในค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีภารกิจดังนี้

         1) บริหารและพัฒนาการศึกษา ตามระเบียบแบบแผนและหลักสูตร ตลอดจน ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรและระบบการเรียนการสอน

         2) ผลิตข้าราชการตำรวจชั้นประทวนตามความต้องการของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

         3) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจในการฝึกพิเศษ การฝึกทบทวน และการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในด้านยุทธวิธีตามที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งการฝึกสุนัขตำรวจ

         4) ดำเนินการฝึกอบรมให้กับประชาชนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ

         5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีหน่วยขึ้นตรงจำนวน 11 หน่วย ประกอบด้วย

         1) ฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการฝึกพิเศษตั้งอยู่ที่อาคารกองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายพระรามหก
อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีหน้าที่รับผิดด้านการอำนวยการ ประสานงาน และสนัสนุนหน่วยขึ้นตรงทั้ง ๑๐ หน่วย

         2) กองกำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ ตั้งอยู่ที่ค่ายพระรามหกอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีรับผิดชอบการฝึกให้กับ ตำรวจตระเวนชายแดนในหลักสูตรพิเศษต่างๆ

กองกำกับการ 1 กองบังคับการฝึกพิเศษ มีความชำนาญเฉพาะด้าน ในการฝึกหลักสูตร ยุทธวิธีการต่อสู้ปราบปรามการก่อความไม่สงบ

         3) กองกำกับการ 2 กองบังคับการฝึกพิเศษ ตั้งอยู่ที่ค่ายพระยาสุรสีห์ อำเภอแปลงยาว
จังหวัดฉะเชิงเทรา รับผิดชอบการฝึกให้กับตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่จังหวัดตราด จนถึงจังหวัดจันทบุรี และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 12 ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ จังหวัดสระแก้ว

กองกำกับการ 2 กองบังคับการฝึกพิเศษมีความชำนาญเฉพาะด้าน ในการฝึกหลักสูตรการควบคุมฝูงชน

         4) กองกำกับการ 3 กองบังคับการฝึกพิเศษ ตั้งอยู่ที่ค่ายพระยอดเมืองขวาง  อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี รับผิดชอบการฝึกให้กับ ตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21  ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่ จังหวัดบุรีรัมย์ จนถึงจังหวัดสุรินทร์และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 22  ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งแต่ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษจนถึง อำเภอน้ำยืนจังหวัดอุบลราชธานีและรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-ลาว ตั้งแต่ อำเภอน้ำยืนจังหวัดอุบลราชธานีจนถึง อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ

กองกำกับการ 3 กองบังคับการฝึกพิเศษมีความชำนาญเฉพาะด้านในการฝึกหลักสูตร อาวุธประจำหน่วย รถเกราะ วี 150 เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 81 มม. และปืนกลขนาด 93

         5) กองกำกับการ 4 กองบังคับการฝึกพิเศษ ตั้งอยู่ที่ค่ายเสนีย์รณยุทธอำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานีรับผิดชอบการฝึกให้กับ ตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 23 ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-ลาว ตั้งแต่ จังหวัดนครพนม จนถึง จังหวัดมุกดาหารและกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 24  ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-ลาว ตั้งแต่ จังหวัดบึงกาฬ จนถึง จังหวัดเลย

กองกำกับการ 4 กองบังคับการฝึกพิเศษมีความชำนาญเฉพาะด้านในการฝึกหลักสูตรงานมวลชนสัมพันธ์

         6) กองกำกับการ 5 กองบังคับการฝึกพิเศษ ตั้งอยู่ที่ค่ายนเรศวรมหาราช อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่รับผิดชอบการฝึกให้กับ ตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 32  ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-ลาว ตั้งแต่จังหวัดน่าน, จังหวัดพะเยา จนถึง บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายและรับผิดชอบแนวชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ บ้านสบรวก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายจนถึง อำเภอแม่ฟ้าหลวงจังหวัดเชียงรายและกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงจังหวัดแม่ฮ่องสอน

กองกำกับการ 5 กองบังคับการฝึกพิเศษ มีความชำนาญเฉพาะด้านในการฝึกหลักสูตร การป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษ

         7) กองกำกับการ 6 กองบังคับการฝึกพิเศษตั้งอยู่ที่ค่ายรามคำแหงมหาราช อำเภอเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย รับผิดชอบการฝึกให้กับ ตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 31 ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-ลาว ตั้งแต่ จังหวัดพิษณุโลก จนถึง จังหวัดอุตรดิตถ์และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34  ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-พม่าในพื้นที่จังหวัดตาก

กองกำกับการ 6 กองบังคับการฝึกพิเศษ มีความชำนาญเฉพาะด้านในการฝึกหลักสูตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

         8) กองกำกับการ 7 กองบังคับการฝึกพิเศษ ตั้งอยู่ที่ค่ายศรียานนท์อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี รับผิดชอบการฝึกให้กับ ตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ จังหวัดกาญจนบุรี จนถึง จังหวัดราชบุรี และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 14  ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่  จังหวัดเพชรบุรี จนถึง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

กองกำกับการ 7 กองบังคับการฝึกพิเศษมีความชำนาญเฉพาะด้านในการฝึกหลักสูตร ยุทธวิธีตำรวจเรื่องการตั้งจุดตรวจจุดสกัด และยุทธวิธีตำรวจเรื่องการต่อสู้ป้องกันตัว

         9) กองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษตั้งอยู่ที่ค่ายศรีนครินทรา อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช รับผิดชอบการฝึกให้กับ ตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41  ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-พม่า ตั้งแต่ อำเภอท่าแซะจังหวัดชุมพรจนถึง จังหวัดระนองร่วมถึงการกระทำความผิดตามแนวชายทะเล จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนองและกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 42  ซึ่งรับผิดชอบการกระทำความผิดตามแนวชายทะเล จังหวัดนครศรีธรรมราช, จังหวัดพังงา, จังหวัดกระบี่และ จังหวัดภูเก็ต

กองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษมีความชำนาญเฉพาะด้าน  ในการฝึกหลักสูตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

         10) กองกำกับการ 9 กองบังคับการฝึกพิเศษ ตั้งอยู่ที่ค่ายท่านมุก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา รับผิดชอบการฝึกให้กับ ตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ จังหวัดสตูลจนถึง จังหวัดสงขลาร่วมถึงการกระทำความผิดตามแนวชายทะเล จังหวัดสตูล และจังหวัดสงขลาและกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 44 ซึ่งรับผิดชอบตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ตั้งแต่ จังหวัดยะลาจนถึง จังหวัดนราธิวาสร่วมถึงการกระทำความผิดตามแนวชายทะเล จังหวัดปัตตานีและ จังหวัดนราธิวาส

กองกำกับการ 9 กองบังคับการฝึกพิเศษ มีความชำนาญเฉพาะด้านในการฝึกหลักสูตร จักรยานยนต์ทางยุทธวิธี

         11) ศูนย์ฝึกสุนัขตำรวจ กองบังคับการฝึกพิเศษ ตั้งอยู่ที่ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำจังหวัดเพชรบุรี  ศูนย์ฝึกสุนัขตำรวจ กองบังคับการฝึกพิเศษ มีความชำนาญเฉพาะด้าน  ในการฝึกสุนัขตำรวจเพื่อตอบสนองภารกิจต่างๆ ได้แก่ สุนัขสะกดรอย, สุนัขลาดตระเวน, สุนัขตรวจค้นยาเสพติด, สุนัขตรวจค้นวัตถุระเบิด, สุนัขตรวจค้นทุ่นระเบิดและอุโมงค์

         ทั้งนี้  กองบังคับการฝึกพิเศษกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย  อย่างเต็มความสามารถ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับตำรวจตระเวนชายแดน

ภายใต้วิสัยทัศน์: เป็นหน่วยผลิตและฝึกให้เป็นตำรวจมืออาชีพได้มาตรฐานสากล